มอเตอร์ไซค์คัสตอม

ในปัจจุบัน ได้มีมอเตอร์ไซค์รูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมามากมายตามกาลเวลาและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปทรง รูปแบบการดีไซน์ สไตล์ จนไปถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ 3 ล้อจากค่ายยักษ์ใหญ่ ที่เคยเป็นที่พูดถึงเมื่อ 5-6 ปีก่อน จนไปถึงมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่มีการจำหน่ายออกสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากค่ายผู้ผลิตรายใหญ่จนไปถึงรายเล็ก แต่ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปแค่ไหน เสน่ห์ของ “Custom bike” หรือ “มอเตอร์ไซค์คัสตอม” ก็ยังไม่เคยจางหายไปจากหมู่นักบิด ซึ่งความหมายของคำว่า Custom ในที่นี้คือ การกำหนดเอง Custom bike หรือ มอเตอร์ไซค์คัสตอม จึงหมายถึง มอเตอร์ไซค์ที่สร้างหรือปรับแต่งขึ้นมาโดยเฉพาะ เป็นเหมือนงานฝีมือหรืองานออกแบบที่มีชิ้นเดียวในโลก แสดงถึงความเป็นตัวเองของผู้สร้างหรือคนขับขี่

วันนี้ CAMEL TIRE จึงขอมาบอกเล่าถึง “Custom bike” หรือ “มอเตอร์ไซค์คัสตอม” ว่ามีกี่รูปแบบ กี่สไตล์ และแต่ละสไตล์มีองค์ประกอบหรือจุดเด่นอะไรที่แตกต่างจากมอเตอร์ไซค์ทั่วๆ ไปบ้าง และที่สำคัญ มอเตอร์ไซค์ทรงสกูตเตอร์หรือทรงทั่วไป ก็สามารถแต่งเสริมเพิ่มสไตล์ได้เช่นกัน อย่าง “ยาง” ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ใช้บ่งบอกถึงสไตล์มอเตอร์ไซค์ของเราได้เป็นอย่างดี ดังนั้นหากใครอยากเปลี่ยนยาง ก็สามารถเข้าเว็บไซต์ https://cameltire.com เพื่อมาดูยางของเราได้ เพราะเรามียางมากมายหลายสไตล์ให้เพื่อนๆ เลือกให้เข้ากับมอเตอร์ไซค์สุดที่รักของคุณ





“CAFÉ RACER” (คาเฟ่ เรเซอร์) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ ในช่วงปี 1950 ซึ่งเป็นยุคที่เพลงร็อคแอนด์โรลกำลังบูมและเป็นที่นิยมมากในหมู่วัยรุ่นอังกฤษ ซึ่งชื่อ Café Racer นั้นกล่าวกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากเหล่าคนขับรถบรรทุกที่ชอบมานั่งพักผ่อนตามร้านกาแฟ แล้วชอบเห็นวัยรุ่นนำมอเตอร์ไซค์มาขับแข่งกันตามท้องถนน เมื่อวัยรุ่นนักซิ่งทั้งหลายกลับมาถึงร้าน พวกเขาก็จะมักโดนดูถูกจากคนขับรถบรรทุกว่า พวกเธอไม่ได้เป็นนักแข่งจริงๆ เป็นแค่นักแข่งตามร้านกาแฟ หรือ Café Racer เหล่าวัยรุ่นนักซิ่งตอนนั้นจึงเกิดไอเดีย นำคำดูถูกนั้นมาตั้งเป็นชื่อสไตล์มอเตอร์ไซค์ที่พวกเขาแต่งและขับกัน
เนื่องจากการเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ขับแข่งกันบนท้องถนน การแต่งรถสไตล์ Café Racer จึงเน้นไปที่น้ำหนักที่เบา โดยจะถอดชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นออก เช่น แบตเตอรี่กระเป๋าข้าง บังโคลน ทั้งยังพยายามแต่งให้สรีระท่านั่งดูหมอบและลู่ลมมากที่สุด โดยปาดเบาะให้บางและเล็กจนเหมือนนั่งได้คนเดียว แฮนด์ก็จะแต่งให้เป็นแบบแฮนด์ต่ำถึงหมอบ และสุดท้ายคือยางจะถูกเปลี่ยนให้เป็นยางหนาและเป็นแบบฟันปลา







“TRACKER” (แทรกเกอร์) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอเมริกาในช่วงปี 1910 จากการแข่งขันมอเตอร์ไซค์รูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Flat Tracking ซึ่งเป็นการแข่งในสนามวงกลมหรือวงรี ในเดิมที การแข่งขัน Flat Tracking พื้นสนามจะถูกปูด้วยแผ่นไม้ จนถึงช่วงปี 1920 สนามได้ถูกเปลี่ยนจากไม้เป็นทางดินเพื่อความปลอดภัยต่อนักแข่ง แต่ด้วยผลจากการเปลี่ยนแปลงนั้น ส่งผลให้การแข่งขันนี้เป็นที่นิยมมากขึ้นจนกระทั่งการมาถึงของสงครามโลกครึ้งที่ 2 ที่ผลักดันให้ทุกคนในประเทศต้องหันไปโฟกัสกับสงคราม แต่เมื่อสงครามจบลง การแข่งขัน Flat Tracking ก็กลับมามีความนิยมอีกครั้งและยังคงความนิยมมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะเด่นของของมอเตอร์ไซค์สไตล์ Tracker คือจะมีถังน้ำมันขนาดเล็ก แฮนด์จับสูง เบาะมีรูปทรงที่บางยาว ท่อสูง ส่วนยางที่ใช้ต้องเป็นยางวิบากสำหรับลุยทางดินโดยเฉพาะ ซึ่งข้างต้นเป็นการแต่งแบบสมัยใหม่เพื่อการขับขี่บนท้องถนนธรรมดา แต่สำหรับการคัสตอมแบบดั้งเดิมจะต้องมีแผ่นป้ายบอกหมายเลขที่ข้างตัวรถ ทั้งยังต้องเอาโช้ค เบรกหน้า และไฟ ออกด้วย เพื่อให้ตัวรถมีน้ำหนักที่เบาที่สุดสำหรับการแข่งขัน







“SCRAMBLER” (สแครมเบลอร์) มีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ ในช่วงปี 1920 เหล่านักบิดในอังกฤษเริ่มเบื่อหน่ายกับการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ตามท้องถนนทั่วไป พวกเขาจึงรวมตัวกันเพื่อสร้างแข่งขันรูปแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีความท้าทายและดิบเถื่อนมากขึ้น โดยมีกติกาคร่าวๆ คือ การเดินทางจากสถานที่หนึ่ง ไปยังอีกสถานที่หนึ่ง โดยใช้เส้นทางหรือปรับแต่งมอเตอร์ไซค์อย่างไรก็ได้ เพื่อให้ถึงจุดหมายเร็วที่สุด และจากความดิบของการแข่งขัน มอเตอร์ไซค์สไตล์ Scrambler จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา
ลักษณะทั่วไปของมอเตอร์ไซค์สไตล์ Scrambler แบบดั่งเดิมคือต้องขับขี่ได้ในทุกสภาพภูมิประเทศ ท่อไอเสียสูงเพื่อลุยภูมิประเทศที่มีน้ำ ยางเป็นแบบยางวิบาก โช้คสูง ส่วนประกอบอื่นๆ มีน้ำหนักเบา แต่เครื่องยนต์ต้องมีกำลังสูงเพื่อการลุยในพื่นที่กันดาร ซึ่งสเน่ห์สำคัญของมอเตอร์ไซค์สไตล์ Scramble คือมีดีไซน์ที่เน้นฟังก์ชันการใช้งานที่รับกับสรีระผู้ขับขี่นั้นโดยเฉพาะ







“BRAT STYLE” (แบรทสไตล์) ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากร้านแต่งมอเตอร์ไซค์ร้านหนึ่ง ในแขวงคิตะ เมืองโตเกียว ในปี 1998 โดยผู้ที่สร้างสรรค์มอเตอร์ไซค์สไตล์ Brat ขึ้นมาคือ โก ทาคามิเนะ (Go Takamine) เขาแต่งมอเตอร์ไซค์ออกมาได้แปลก ไม่เหมือนใคร และที่สำคัญคือสามารถขับได้อย่างสนุกสนาน และด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นนี้เอง จึงได้ไปเตะตา 2 ค่ายผู้ผลิตใหญ่อย่าง Yamaha และ BMW ให้ช่วยแต่งมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่ที่กำลังจะวางขายเพื่อใช้ในการโปรโมท ทำให้มอเตอร์ไซค์สไตล์ Brat เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนสามารถไปเปิดสาขาเพิ่มอีกในประเทศอเมริกา
คำว่า Brat Style นี้ ได้มาจากชื่อร้านแต่งมอเตอร์ไซค์ของคุณ โก ทาคามิเนะ เองในชื่อ “Brat Style”
ลักษณะเด่นของมอเตอร์ไซค์ทรง Brat Style คือ การโหลดช่วงล้อหลังให้ต่ำ ไฟหน้าขนาดเล็ก เบาะมีลักษณะแบนราบ ในส่วนของแฮนด์นั้นเป็นแบบไหนก็ได้ขอแค่ให้ท่านั่งขับดูสบายๆ ไม่ฝืนสรีระ ทำให้แฮนด์แบบหมอบเป็นของต้องห้ามสำหรับมอเตอร์ไซค์ทรงนี้







“BOBBER” (บ๊อบเบอร์) ปรากฎตัวครั้งแรกสู่สายตาชาวโลกในปี 1920 ในงานเปิดตัวมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่ของ Harley Davidson ต่อมาในปี 1930 2 ค่ายมอเตอร์ไซค์ยักษ์ใหญ่อย่าง Harley และ Indian ได้ผลิตมอเตอร์ไซค์ตามกระแส Cut-Down หรือมอเตอร์ไซค์ที่เน้นการตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก เพื่อการลดน้ำหนักส่วนเกิน โดยส่วนที่ตัดหรือลดทอนออกส่วนแรกๆ คือ บังโคลนหน้าและหลัง ซึ่งกระแส Cut-Down นั้นเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่องๆ จนทำให้ค่ายผลิตมอเตอร์ไซค์อย่าง Harley, Indian และ Triumph ได้นำเทรนด์เหล่านี้มาปรับใช้เข้ากลับมอเตอร์ไซค์ที่กำลังผลิตรุ่นต่อๆ ไป จนทำให้ Bobber การเป็นสไตล์การคัสตอมมอเตอร์ไซค์กระแสหลักไปโดยปริยาย
ลักษณะเด่นของมอเตอร์ไซค์สไตล์ Bobber คือ การตัดหรือลดทอนส่วนที่ไม่จำเป็นออก เช่น บังโคลนหน้า-หลัง บางคันถึงกับเอาไฟและกระจกออก ส่วนของโครงรถก็มีการยืดให้ยาวขึ้นและโหลดต่ำลง เบาะคนขับมีลักษณะต่ำ เบาะคนซ้อนจะถูกตัดออกหรือทำให้เล็กที่สุด จำทำให้เหมือนกับเป็นมอเตอร์ไซค์สำหรับขับคนเดียว







“CHOPPER” (ชอปเปอร์) ได้ถือกำเนิดมาจากความไม่พอใจของทหารอเมริกันที่เพิ่งกลับมาจากการรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาบอกว่ามอเตอร์ไซค์ที่ได้ขับในสงครามนั้นเบา โฉบเฉี่ยว และขับสนุกกว่ามาก และถึงแม้ตอนนั้นจะมีมอเตอร์ไซค์สไตล์ Bobber ออกมาแล้ว แต่มันก็ยังไม่โฉบเฉี่ยวพอ พวกเหล่าอดีตทหารจึงเริ่มการ “สับ” หรือ “Chop” มอเตอร์ไซค์ของพวกเขาเอง โดยตัดส่วนที่ไม่จำเป็นทิ้งออกไปยิ่งกว่ามอเตอร์ไซค์ทรง Bobber อีก โดยรถสไตล์ Chopper ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างจริงๆ จากภาพยนตร์เรื่อง Easy Rider ที่ออกฉายในปี 1969 และเมื่อนั้นเอง มอเตอร์ไซค์สไตล์ Chopper จึงได้ถือกำเนิดออกสู่สายตาชาวโลกอย่างเป็นทางการ
รูปลักษณ์ของ Chopper จะมีความคล้ายคลึงกับ Bobber มาก เพียงแต่จะมีความเปลือยกว่า ถอดส่วนที่ไม่จำเป็นออกมากกว่า จนแทบจะเรียกได้ว่า Chopper คือขั้นกว่าของ Bobber ทั้งโช้คหน้าที่มักแต่งให้ยาวเป็นพิเศษ แฮนด์บาร์ก็ทำแบบสูงพิเศษ และที่สำคัญคือเบาะ มักจะเป็นแบบนั่งคนเดียวไม่มีที่สำหรับคนซ้อน







“BAGGER” (แบคเกอร์) เป็นมอเตอร์ไซค์รูปแบบเดียวกับมอเตอร์ไซค์ทรง Touring คือเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ถูกสร้างหรือปรับแต่งมาเพื่อการขับบนถนนทางไกลโดยเฉพาะ ซึ่ง Harley Davidson คือมอเตอร์ไซค์ที่นิยมนำมาเป็นแต่งเป็นทรง Bagger มากที่สุด เนื่องจากมีเครื่องยนต์พลังสูง และ Harley บางรุ่นยังถูกสร้างมาเป็นทรง Bobber ซึ่งมีโครงสร้างรถที่ยาวอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างตัวรถมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมอเตอร์ไซค์ค่ายอื่นก็สามารถดัดแปลงเป็น Bagger ได้อย่าง BMW หรือมอเตอร์ไซค์ CC สูงอื่นๆ
ลักษณะสำคัญของมอเตอร์ไซค์ทรง Bagger คือ ต้องมีเครื่องยนต์กำลังสูง เนื่องจากเป็นมอเตอร์ไซค์สำหรับเดินทางไกล มีกระเป๋าข้างขนาดยาวและใหญ่สำหรับใส่สัมภาระ บังโคลนหน้าและหลังจัดเต็มไม่มีถอดออก แฟริ่งและกระจกกันลมขนาดใหญ่เพื่อป้องกันลมขณะขับขี่ ล้อหน้าต้องใหญ่กว่าล้อหลัง และที่สำคัญที่สุดคือ แฮนด์บาร์และเบาะนั้งต้องอยู่ในลักษณะที่นั่งสบาย หลังตรง เพื่อการขับทางไกลในระยะเวลานานๆ ไม่เมื่อยหลัง







“RAT BIKE” (แรทไบค์) มีแนวคิดในการแต่งมอเตอร์ไซค์ที่แตกต่างกับมอเตอร์ไซค์คัสตอมแนวอื่นอย่างมาก โดยมีแนวคิดคือ ให้เสียเงินกับการแต่งมอเตอร์ไซค์ให้น้อยที่สุด แล้วโฟกัสไปกับความสุขในการขับขี่เสียมากกว่า หรือให้พูดสั้นๆ คือ เสียตังค์ให้น้อย ขับให้เยอะๆ โดยกระแสของ Rat Bike ได้เริ่มขึ้นในช่วงปี 1960 ซึ่งเป็นช่วงสภาพเศรษฐกิจของประเทศอเมริกากำลังย่ำแย่ ส่งผลให้ผู้คนพยายามลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง แต่ช่วงเวลาที่ Rat Bike ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายจริงๆ คือช่วงปลายยุค 1970 ถึงต้นยุค 1980 เนื่องจากสื่อตามโทรทัศน์และนิตรสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกับมอเตอร์ไซค์
จากแนวคิดข้างต้น ส่งผลให้ Rat Bike นั้น จะทำออกมาเป็นรถทรงอะไรก็ได้ เพียงแต่รูปลักษณ์หรือสภาพของรถจะต้องดูเก่าแบบเก๋าๆ ดูผ่านการใช้งานมาอย่างโชกโชน ไม่ค่อยล้างหรือทำความสะอาด ความมันแวววาวของอะไหล่หรือสี ไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับชาว Rat Bilk อะไหล่หรือส่วนต่างๆ จะดูดิบๆ ทำมือ ไม่ได้เป็นชุดแต่งแบบออกมาจากโรงงาน ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องเกิดจากความตั้งใจทำ เพราะหากว่าเป็นรถที่เก่าตามเวลาหรือเก่าตามสภาพ รถคันนั้นจะถูกเรียกว่า Fakerat แทน








พูดถึงมอเตอร์ไซค์คัสตอมของสากลกันแล้ว CAMEL TIRE จึงขอแถมท้ายด้วยมอเตอร์คัสตอมจากฝีมือคนไทยกันบ้าง นั่นก็คือ สามล้อเครื่องสกายแลป หรือ ตุ๊กตุ๊กอีสาน นั่นเอง

“รถสกายแลป” มีจุดเริ่มต้นที่แสบเรียบง่ายจาก ในปี 2519 คุณลุงคนหนึ่งที่มีอาชีพเป็นคนขับรถถีบสามล้อรับจ้างที่ตลาด ได้เข้ามาขอให้อู่แห่งหนึ่งดัดแปลงติดเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์เข้าไปในรถสามล้อถีบของคุณลุง เมื่อเจ้าของอู่ดัดแปลงจนประสบความสำเร็จ สามารถส่งลูกค้าได้ไว ไม่ต้องเปลืองแรง แข็งแรงทนทาน ประหยัดน้ำมัน และสามารถขนของหนักได้คล้ายกับรถกระบะ จนเกิดการบอกต่อให้มาดัดแปลงที่อู่แห่งนี้ ในภายหลังอู่แห่งนี้ก็ได้จัดตั้งบริษัทสำหรับผลิตรถสกายแลป ส่งออกกันอย่างแพร่หลาย ไม่เพียงแต่ภาคอีสาน แต่รวมไปถึงภาคอื่นๆ และประเทศเพื่อนบ้าน รถสกายแลป เป็นเชื่อที่คนอุดรเรียกกัน ด้วยความบังเอิญจากข่าวดังที่ตอนนั้นมีข่าวดังเรื่องห้องทดลองลอยฟ้า (Skylab) ของอเมริกาได้เสร็จสิ้นภารกิจและตกลงมาจนเป็นข่าวดังในขณะนั้น แต่แน่นอนว่ารถประเภทนี้ไม่ได้มีอยู่แค่เพียงในจังหวัดอุดร ด้วยสมรรถนะที่ครบเครื่องของรถ สกายแลป ทั้งสามารถขนของหนักได้ ประหยัดน้ำมัน มีความแข็งแรง และมีสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ยางที่มีประสิทธิภาพและเหมาะกับรถประเภทสกายแลป เช่นยาง Camel รุ่น CM-532 และ CM-534 ที่มีความทนทานกว่ายางธรรมดา ด้วยโครงสร้างยางที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับงานที่ต้องขนของหนัก ก็จะทำให้ยางมาอายุการใช้งานที่มากขึ้น อีกทั้งยังใช้ประสิทธิภาพยางได้อย่างเต็มที่